รีเซต

“คิดถึงพ่อ คิดถึงเพลงของพ่อ” ย้อนรำลึก ๑๓ บทเพลงพระราชนิพนธ์ในความทรงจำ

“คิดถึงพ่อ คิดถึงเพลงของพ่อ” ย้อนรำลึก ๑๓ บทเพลงพระราชนิพนธ์ในความทรงจำ
mepangsard
19 ตุลาคม 2559 ( 11:06 )
3.6K

ขอน้อมเกล้าฯถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระผู้เป็นดวงใจไทยทั้งชาติ พ่อหลวงของลูกสยามทุกคน หลังจากทรงทำเพื่อลูกๆ สร้างปาฏิหาริย์มาเป็นเวลากว่า ๗๐ ปี ในวันนี้ถึงเวลาที่พ่อได้พักผ่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากายพ่อจะไม่อยู่ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา พ่อก็ได้มอบของขวัญมากมายเอาไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส (หลักคำสอน) เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต, โครงการพระราชดําริ เป็นต้น และยังมีหนึ่งในของขวัญแสนล้ำค่าที่พ่อฝากไว้ นั่นก็คือ… “บทเพลงพระราชนิพนธ์”

ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง ได้ที่นี่

นอกจากนี้ TrueMusic App ได้รวบรวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ได้ฟัง ที่นี่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเป็น “อัครศิลปิน” เนื่องจากทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่างๆ โดยเฉพาะด้านดนตรีที่ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงไว้ถึง ๔๘ เพลง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๓๘ มีทั้งเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง แล้วจึงใส่คำร้องด้วยพระองค์เอง และเพลงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นมา แล้วโปรดเกล้าฯให้มีผู้แต่งคำร้องประกอบ

สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ นอกจากจะมีท่วงทำนองไพเราะจับใจ มีลักษณะการใช้ภาษาที่สละสลวยแล้ว ยังแฝงด้วยข้อคิดความหมายที่ดี ข้อเตือนใจถึงสัจธรรม หรือแม้กระทั่งปลุกใจ ให้กำลังใจ… โดยส่วนตัวผมเติบโตขึ้นมาได้ฟังบทเพลงของพ่อเพียงบางบทเพลงเท่านั้น ในโอกาสนี้จึงขอย้อนรำลึกบทเพลงของพ่อที่ผมเคยฟัง และขอชวนมาร่วมย้อนรอยบทเพลงพระราชนิพนธ์ในความทรงจำ “คิดถึงพ่อ คิดถึงเพลงของพ่อ” พร้อมกับศึกษาประวัติความเป็นมาบทเพลงพระราชนิพนธ์จากเว็บเพจเกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (web.ku.ac.th) ไปด้วยกันครับ…

เมื่อตอนเป็นเด็กน้อย ผมได้มีโอกาสทำความรู้จักและเรียนขับร้องในวิชาดนตรีสมัยชั้นประถมศึกษา ในตอนนั้นด้วยความที่ยังเป็นเด็กอยู่ แม้จะเข้าใจในความหมายของบทเพลง แต่ก็ยังไม่ลึกซึ้งเท่าใดนัก รู้แค่ว่าบทเพลงเหล่านี้ฟังแล้วไพเราะดี ฟังสบายรู้สึกผ่อนคลาย โดยเฉพาะบทเพลงพรปีใหม่ ได้ฟังบ่อยมาก ทุกปีจะต้องได้ยินเพลงนี้ แถมในช่วงประถมปลายยังได้ขึ้นไปร่วมร้องประสานเสียงอีกด้วย แต่ที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นบทเพลงใกล้รุ่ง เพราะฟังแล้วรู้สึก ร่าเริง เบิกบาน สดชื่นเหมือนยืนสูดอากาศยามเช้าบนริมเขา ส่วนบทเพลงแสงเทียน กับบทเพลงชะตาชีวิต ฟังแล้วรู้สึกเศร้าปลงตกกับสัจธรรมชีวิต บทเพลงยามเย็น ฟังแล้วรู้สึกถึงความเหงายามพระอาทิตย์ใกล้ลับฟ้า เพลงสายฝน รู้สึกเย็นสบายทุกครั้งที่ได้ฟัง…

แสงเทียน (Candlelight Blues)
“แสงแววชีวาเปรียบแสงเทียน”
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น ต่อมาได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกปีพ.ศ.๒๔๙๐ และใน พ.ศ.๒๔๙๖ นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์สดใด พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

ยามเย็น (Love at Sundown)
“โอ้ ยามเย็น…จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำถูกต้องสมบูรณ์ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที

สายฝน (Falling Rain)
“เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนมีลีลานุ่มนวลอ่อนหวาน บรรเลงครั้งแรกในงานรื่นเริงของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยอีกเพลงหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
“ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็กพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ขึ้น และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วยแก้ไข แล้วพระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
“แสงลับนับวันจะเตือนให้ใจต้องขื่นขม”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกวาระหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๒๐ พรรษา ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าราชการ นักเรียน และคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในวันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีด้วย

ในงานมีขายลอตเตอรี่สำหรับช่วยคนจน นอกจากการออกลอตเตอรี่แล้ว ยังมีทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M. Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร? ผู้ที่จะทายต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ วงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า “คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรีต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว” ในงานไม่มีผู้ทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว เพราะทุกคนต่างคิดว่า H.M. Blues ย่อมาจาก His Majesty ‘s Blues แต่อันที่จริงแล้ว H.M.Blues ย่อมาจาก Hungry Men’s Blues แปลว่า เพลงบลูส์ของผู้ที่หิวโหยต่างหาก

สำหรับคำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร. ประเสริฐจึงใส่คำร้องภาษาไทยที่มีความหมายออกมาคนละแบบ

พรปีใหม่
“ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ ๑๓ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใม่’ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๕

ในช่วงเรียนมัธยม-อุดมศึกษา ผมเริ่มรู้จักบทเพลงพระราชนิพนธ์แนวปลุกใจรักชาติมากขึ้น โดยเฉพาะจากแม่ที่บอกเล่ามาบ้าง เช่น บทเพลงเราสู้ หรือเคยได้ยินจากภาพยนตร์โฆษณา อย่างเช่น บทเพลงแผ่นดินของเรา เป็นต้น ส่วนบทเพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย จำไม่ได้ว่าเคยได้ยินครั้งแรกตอนไหน แต่คุ้นๆว่าเหมือนจะเคยเรียนในวิชาดนตรีสมัยประถม หรือไม่ก็แม่เคยร้องให้ฟัง สำหรับบทเพลงความฝันอันสูงสุด ตอนแรกเคยเห็นเป็นบทกลอนที่อยู่ในหนังสือ ยังไม่เคยได้ยินเป็นบทเพลง แต่เท่าที่จำได้ มาได้ยินเป็นบทเพลงก็ตอนที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศไทยในสมัย พ.ศ.๒๕๔๙ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ตอนนั้นจำได้แม่นมาก เปิดทีวีได้ยินแต่เพลงนี้วนไปวนมา (เวอร์ชั่นเสียงคุณลุงสันติ ลุนเผ่ ร้องได้ปลุกเร้าจับใจมาก)…

เราสู้
“เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๔ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ ๔ บท ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งขันฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย

เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง “เราสู้” ก็ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด ๕ เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัยนับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ที่ทรงจากคำร้อง

แผ่นดินของเรา (Alexandra)
“รักชาติของเรา ไว้เถิดผองไทย”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๔ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ตามทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ๑๖ ห้องเพลง นำออกบรรเลงครั้งแรก ณ ศาลาผกาภิรมย์ สวนจิตรลดา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระราชดำริว่า ท่วงทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra ไพเราะ และน่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์ คำร้องภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นว่า เพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra นี้มีเพียง ๑๖ ห้องเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมโดยมีท่อนกลาง และท่อนท้าย จนครบ ๓๒ ห้องเพลง

ความฝันอันสูงสุด
“นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ภิรมย์รัตน์” ว่า… “เมื่อตามเสด็จฯไปอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติ เพื่อประเทศชาติ”

“ข้าพเจ้าค่อย ๆ คิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน ๕ บท ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทาน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะ บ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ดังที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์รู้จักกันแพร่หลายทุกวันนี้ นับเป็น เพลงพระราชนิพนธ์แรกที่ได้ทรงจากคำร้อง

ไกลกังวล (When) หรือ เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย
“เกิดเป็นไทยแล้ว ใจต้องสู้”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๖ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ในพ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรี ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยคือ นายวิชัย โกกิลกนิษฐ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นาย Rual Maglapus อดีตสมาชิกวุฒิสภาของประเทศฟิลิปปินส์ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย “เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย” เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย

ในช่วงตลอด ๔ ปีในรั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากได้ร่วมกิจกรรมกับทางคณะและมหาวิทยาลัย อีกทั้งได้พบปะกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ทำให้ผมได้รู้จักบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่เป็นเพลงประจำ ๓ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้แก่ มหาจุฬาลงกรณ์, เกษตรศาสตร์ และยูงทอง แต่ละบทเพลงมีความขลัง และบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยไว้อย่างชัดเจน ในฐานะนักศึกษาตอนนั้นได้ฟังแต่ละเพลงแล้วรู้สึกขนลุก ยิ่งตอนที่มีงานมหาวิทยาลัย ถ้าได้ยินเพลงประจำมหาวิทยาลัยดังขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นต้องหยุดทุกสิ่งทุกอย่างแล้วยืนตรงทันที ส่วนตัวผมเองมีความภูมิใจในสถาบันรั้วเหลืองแดงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอได้มีโอกาสฟังและร้องเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจมากกว่าเดิม…

มหาจุฬาลงกรณ์
“น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา”
เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ ๑๑ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ที่ใช้ Pentatonic Scale คือ ๕ เสียง แทน Scale แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale) ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้ขอพระราชทานเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์นี้ให้ไปใส่คำร้องเอง ท่านผู้หญิง สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และนายสุพร ผลชีวิน จึงได้ประพันธ์คำร้องถวาย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์มาแต่งเป็นแนวไทย นายเทวาประสิทธิ์รับพระราชทานมาทำและบรรเลงถวายด้วยวงปี่พาทย์ถึงสองครั้ง ภายหลังเมื่อนายเทวาประสิทธิ์ไปสอนในชมรมดนตรีสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้นำเพลงพระราชนิพนธ์นี้มาปรับปรุงเป็นเพลงโหมโรง สำหรับใช้โหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของชมรม

เกษตรศาสตร์
“แม้เหนื่อยกายใจสำราญ เสร็จกิจการงานเกษตรเกษม”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๒ ทรงพระราชนิพนธ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องถวาย และพระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำออกบรรเลงครั้งแรกในวันทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารเย็นแก่ อาจารย์ ข้าราชการ นิสิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

ยูงทอง
“เหลืองแดงแสงธรรมศาสตร์วิไล ปกแผ่ไปในทุกทาง”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๖ ทรงพระราชนิพนธ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ทรงดนตรีทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ให้ อาจารย์ นักศึกษา ข้าราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฟังครั้งแรก ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” ที่มีคำร้องสมบูรณ์ (โดยนายจำนง ราชกิจ ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นตามที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ร่างไว้) เพื่อเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ และได้ทรงปลูกต้นหางนกยูง ๕ ต้น ไว้ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ระลึก โดยชื่อ ยูงทอง มาจากหางนกยูงฝรั่งที่พระองค์ทรงปลูกไว้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แถมท้าย ๑ บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีความหมายดีเพลงหนึ่ง เป็นบทเพลงให้กำลังใจจากพ่อที่ฝากเอาไว้ แม้เดิมทีบทเพลงนี้จะมีจุดประสงค์เพื่อปลอบขวัญคนตาบอด แต่สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ หากพ่อสามารถบอกเราได้ เชื่อว่าพ่อก็คงอยากจะบอกพวกเราทุกคนให้ … “ยิ้มสู้”

ยิ้มสู้ (Smiles)
“โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง ไยนึกกลัวหวาดเกรง ยิ้มสู้”
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๖ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญ และให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอดในพระบรม ราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๕ ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์ในปีต่อมา

และนี่ก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ในความทรงจำที่ซึมซับผ่านเข้ามาในชีวิต นับจากนี้ไปทุกครั้งที่กลับมาฟังบทเพลงเหล่านี้ ความรู้สึกของผมที่มีต่อบทเพลงแต่ละเพลงอาจไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่จะมีเพิ่มเติมก็คือ “ความคิดถึง” ที่มีต่อพระองค์ท่าน

สุดท้ายนี้แม้พ่อจะไม่อยู่แล้ว แต่สำหรับผม พ่อยังไม่จากไปไหน ยังคงรู้สึกว่าพ่อยังคอยเฝ้าดูเราอยู่ และรู้สึกว่าพ่อยังอยู่ในใจ นึกถึงพ่อทีไรหัวใจมันอบอุ่นเสมอ และจะขอเดินตามรอยเท้าทำตามคำสอนของพ่อให้ดีที่สุด ดังเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ที่มีใจความว่า…

“ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ เฝ้าแต่ ‘ยิ้มสู้’ ไปแล้วใจชื่นบาน”

สำหรับรายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์อีก 34 บทเพลง มีดังต่อไปนี้

– ดวงใจกับความรัก (Never Mind the H.M. Blues)
– มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
– อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
– เทวาพาคู่ฝัน (Dream Of Love Dream of You)
– คำหวาน (Sweet Words)
– แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
– รักคืนเรือน (Love Over Again)
– ยามค่ำ (Twilight)
– มาร์ชธงไชยเฉลิมพล
– เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
– ลมหนาว (Love in Spring)
– ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
– Oh I say
– Can’t You Ever See
– Lay Kram Goes Dixie
– ค่ำแล้ว (Lullaby)
– สายลม (I Think of You)
– แสงเดือน (Magic Beams)
– ฝัน (Somewhere Somehow)
– มาร์ชราชนาวิกโยธิน
– ภิรมย์รัก (A Love Story)
– Nature Waltz
– The Hunter
– Kinari Waltz
– พระมหามงคล
– ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
– เตือนใจ (Old Fashioned Melody)
– ไร้เดือน (No Moon)
– เกาะในฝัน (Dream Island)
– แว่ว (ECHO)
– เรา-เหล่าราบ ๒๑
– BLUES FOR UTHIT
– รัก
– เมนูไข่

ขอบคุณบทความจาก Script.Today

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://web.ku.ac.th/king72/2530/
http://www.fungjaizine.com/news-/royal-songs

ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต และ
http://www.oknation.net/blog/March/2011/12/26/entry-1
http://www.chumchonmusic.com/the_king/king.htm
http://welovethaiking.com/blog
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=yyswim&month=10-2008&date=22&group=3&gblog=193

 

“สนุกกับประสบการณ์ดนตรีที่ตอบทุกจังหวะชีวิตในแบบคุณ
ด้วย TrueMusic ดาวน์โหลดได้แล้ว truemusic.com
และ ที่ App Store และ Play Store”